สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ ๓๙๗ ปี ปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อค่ำวันที่ ๒๑ ธันวาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่อาทิตย์ตกถึงประมาณ ๑๙.๓๐ น. มองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน ๒๐๐ เท่า เห็นชัดพร้อมกันทั้งสองดวงและดวงจันทร์บริวาร เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หลังจากนี้ยังติดตามชมได้จนถึงวันที่ ๒๓ ธันวาคมนี้ ก่อนจะห่างออกจากกันเรื่อย ๆ และจะกลับมาปรากฏใกล้กันเช่นนี้ในอีก ๖๐ ปีข้างหน้า

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวเริ่มบันทึกตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคมเป็นต้นมา เห็นได้ชัดเจนว่า ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ปรากฏเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในภาพยังสังเกตเห็นดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ทั้งสองอีกด้วย ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ที่ปรากฏ ได้แก่ ไททัน รีอา ทีทีส และไดโอนี

สำหรับบรรยากาศการติดตามชมปรากฏการณ์สำคัญในครั้งนี้ นั้น ชาวไทยสนใจติดตามกันอย่างคึกคัก ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ ๓๙๗ ปี จำนวน ๔ จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ภูมิภาค นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา, และสงขลา โดยมีการตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่าง ๆ ให้ประชาชนส่องดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ซึ่งสามารถมองเห็นพร้อมกันในคราวเดียวพร้อมดวงจันทร์บริวาร มีประชาชนในสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ ๑๙ ถึง ๒๓ ธันวาคมนี้ เวลา ๑๘.๐๐-๒๒.๐๐ น. พร้อมเข้มงวดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในบริเวณงาน ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ส่วนเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์กว่า ๕๑๐ โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ชนิดดอปโซเนียนจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ นำกล้องโทรทรรศน์มาจัดกิจกรรม และเชิญชวนนักเรียนและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงร่วมส่องดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์กันอย่างคึกคักในช่วงที่ผ่านมา สร้างความตื่นตัวให้ประชาชนและเยาวชนไทยกันมาสนใจวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ผ่านปรากฏการณ์และกิจกรรมครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

ปรากฏการณ์ ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ จะเกิดขึ้นในทุก ๒๐ ปี แต่ครั้งนี้นับว่า เข้าใกล้ที่สุดในรอบกว่า ๓๙๗ ปี หากพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ ต้องรออีก ๖๐ ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงจะเข้ามาใกล้กันในระยะห่าง ๐.๑ องศา แบบนี้อีกครั้ง
พิพัฒน์ ศรีตะวัน สำนักข่าวเชียงใหม่ออนไลน์นิวส์ รายงาน